Robot Freak
Getter Robo Saga 1
การ์ตูน ญี่ปุ่นกับหุ่นยนต์เป็นของที่คู่กันมาตั้งแต่จุดเริ่มต้น นับแต่อะนิเมชั่นทางทีวีเรื่องแรกของญี่ปุ่น เจ้าหนูปรมาณู(Tetsuwan Atom) ผลงานของ โอซามุ เท็ตสึกะ ผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการการ์ตูนญี่ปุ่น ก็เป็นเรื่องของหุ่นยนต์ แต่นี่ไม่ใช่หุ่นยนต์ในแนวทางที่เราจะพูดถึงกันในวันนี้ ผลงานที่เป็นจุดเริ่มต้นของแนวทางนี้ก็คือ หุ่นเหล็กหมายเลข28 (Tetsujin 28) นั่นก็คือหุ่นยนต์ยักษ์
.
หุ่นเหล็กหมายเลข 28 (1963)เปิดแนวทางของการ์ตูนหุ่นยนต์สู่แนวทางใหม่ เรื่องของหุ่นยนต์ยักษ์ ที่เข้าต่อกรกับองค์การร้าย หรือผู้ชั่วร้าย
.
ลักษณะเด่นบางอย่างจากเรื่องนี้ยังคงต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบันนั่นก็คือผู้ควบคุมเจ้าหุ่นนี้ มักจะต้องเป็นเด็ก หรือไม่ก็เด็กวัยรุ่น
.
หลังจากนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงเล็กๆด้วยการนำคนบังคับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหุ่นยนต์ยักษ์ในอะนิเมชั่นแนวนี้เรื่องต่อมา แอสโตรกันก้า(1972) ที่เจ้าหนูกันทาโร่(ผู้บังคับจะเรียกอย่างนั้นได้ไหมนี่เมื่อกันก้าหุ่นยักษ์ผู้มาจากอวกาศมีชีวิตจิตใจเป็นของตัวเอง)จะถูกดูดเข้าไปในตัวหุ่นยักษ์ แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่ใช่หมุดหลักสำคัญของการ์ตูนหุ่นยนต์จนกระทั่งเรื่องต่อมา
.
Mazinger Z การ์ตูนหุ่นยนต์ยักษ์ที่เป็นหลักหมุดสำคัญของการ์ตูนหุ่นยนต์
ในปีเดียวกัน (1972) นางาอิ โก และทีมงานของเขาในนามกลุ่มไดนามิคโปร นำเสนอการ์ตูนหุ่นยนต์ยักษ์เรื่องใหม่ที่จะเป็นหลักหมุดสำคัญของการ์ตูนหุ่นยนต์ซึ่งก็คือ มาชีนก้า แซด (Mazinger Z) ออกฉายในเมืองไทยในชื่อ หุ่นกายสิทธิ์ ทางช่อง5 เวลาเที่ยงวันเสาร์(ถ้าจำวันเวลาไม่ผิดนะครับ)
.
เรื่องราวของหุ่นยนต์ยักษ์ที่ออกต่อต้านการพยายาม ยึดครองโลกของวายร้ายอย่างดร.เฮล ผู้มีลูกน้องที่ล้วนแต่ประหลาดๆอย่างมนุษย์สองเพศ บารอนอาชูร่า หรือผีหัวขาดบล็อคเค็น ที่ส่งหุ่นยนต์ยักษ์มารุกรานโลกได้ทุกอาทิตย์ (โดยตามเนื้อเรื่องบอกว่าหุ่นที่ส่งมาเป็นสิ่งที่ดร.เฮล ขุดพบจากอารยะธรรมโบราณ) โดยงานนี้เป็นหน้าที่ของคาบูโต้ โคจิ เด็กหนุ่มเลือดร้อนหลานชายของคาบูโต้ จูโซ่ ผู้สร้างหุ่น Z สุดยอดอาวุธที่มีอาวุธไฮ-เทคมากมาย แต่ที่เด่นๆก็เช่น พลังแสงอาทิตย์(เบรสท์ไฟร์เออร์) หรือหมัดจรวด (ร็อคเก็ต พันซ์)
.
หนังฮิทระเบิดเถิดเทิงถึงขนาดสร้างติดต่อกันนานกว่า 2 ปี และยังมีภาคต่ออย่าง เกรทมาชีนก้า (1974) ตามมาอีกด้วย(ดังขนาดตอนอวสานและตอนเปิดตัวเกรทมาชีนก้าภาคต่อไม่ได้ฉายทีวี แต่เอาไปฉายโรง ทำให้ผมไม่ได้ดูตอนเด็กๆและคิดว่าทีวีฉายไม่ครบมาตั้งนานนั่นเลย)
.
ความดังของมาชีนก้าทำให้ของเล่นที่ผลิตโดย โปปี้ ขายดีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันคือจุดกำเนิดของของเล่นหุ่นเหล็ก หรือ โชโกคิน ที่ยังมีการสานต่ออยู่ในปัจจุบัน กับไลน์ จัมโบ้ แมชชีนเดอร์หุ่นตัวใหญ่ยักษ์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง
.
ความสำเร็จของหุ่น Z ทำให้มีความคิดว่าต้องสร้างการ์ตูนหุ่นยนต์ยักษ์ออกมาอีกจนเป็นจุดกำเนิดของเรื่องที่เราจะคุยกันในวันนี้ มีเรื่องเล่ากันอยู่ 2 แนวทางถึงที่มาของหุ่นที่จะมีจุดขายแปลกใหม่กว่าหุ่น Z ว่า โปปี(บางที่บอกว่าโตเอะผู้สร้างอะนิเมะ) ไปขอร้องนางาอิ โกให้ช่วยสร้างการ์ตูนหุ่นยนต์ฮิตอย่างนี้อีกสักเรื่อง และอยากให้หุ่นตัวนั้นแปลงร่างได้ด้วย(ผมไม่ยืนยันนะว่าเรื่องนี้จริง
.
ว่ากันว่านางาอิ รับปาก แต่ตอนนั้นแกหมดไอเดียเลยโยนงานให้ อิชิคาว่า เคน ที่เป็นทั้งเพื่อนและลูกศิษย์รุ่นบุกเบิกของไดนามิค โปร ที่ช่วงนั้นร่วมงานกันเป็นครั้งคราว เพราะเคนเองก็เริ่มมีผลงานในชื่อตัวเองแล้ว ทำงานนี้
.
หุ่นยนต์ที่แยกร่าง ประกอบร่างกันได้จากยานสามลำ แถมยังเปลี่ยนร่าง เป็นหุ่นได้ถึง 3 แบบ
จนในปี 1974 พวกเขาก็สร้างผลงานที่สร้างความแปลกใหม่ ที่จะเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวของการเปลี่ยนแปลงของการ์ตูนหุ่นยนต์ นั่นก็คือหุ่นยนต์ที่แยกร่างและประกอบร่างกันได้จากยานสามลำแถมยังเปลี่ยนร่าง เป็นหุ่นได้ถึง 3 แบบอีกด้วยในชื่อ เก็ตเตอร์ (ฉายในเมืองไทยในชื่ออภินิหารหุ่นยนต์ 3 พลังฉายทางช่อง 5 เวลาเที่ยงวันเสาร์ ต่อจากหุ่น Z นั่นแหละ) และนี่แหละคือเรื่องราวที่เราจะพูดกันในวันนี้ หุ่นเก็ตเตอร์
.
อิชิคาว่า เคนเล่าถึงจุดเริ่มต้นของเก็ตเตอร์ว่าสิ่งที่เขาจำได้แม่นเลยคือความยุ่งยาก เพราะตอนนั้นหุ่นแปลงร่าง/ประกอบร่าง ยังไม่มีในโลก เขาจึงต้องเริ่มสร้างมันขึ้นมาใหม่หมด
.
เริ่มต้นเป็นไซบอร์กสามคนแปลงร่างด้วยการต่อตัวเป็นรูปปิระมิด นี่แหละคือคอนเซ็ปท์ดั้งเดิมที่นางาอิ โก คิดไว้สำหรับเก็ตเตอร์ในชื่อ “Change Robo Getter-3” โดยที่หุ่นที่ออกมาก็มีรูปร่างเหมือนคนที่อยู่ส่วนยอดของปีระมิด ไม่ได้มีรูปร่างประหลาดๆออกไปอย่างที่เราคุ้นเคยกัน แต่มันก็ดูไม่เข้าท่า
.
จนวันหนึ่งเคนกับนางาอิไปซื้อรก แล้วด้วยความไม่ชำนาญเลยเกิดอุบัติเหตุเล็กๆขึ้น แต่ทำให้โกเกิดไอเดียและเสนอให้ทำหุ่นแปลงร่างประกอบร่างจากรถ 3 คันมาชนกัน แต่เคนก็ว่ายังไม่เข้าท่าเลยเปลี่ยนเป็นยานบินสามลำมาเชื่อมกันแทนในที่สุด โดยเก็ตเตอร์วันเคนเป็นคนออกแบบ (เขาได้ไอเดียใบหน้ามาจากลายบนกระดองเต่า) ส่วนเก็ตเตอร์ทู และทรีเป็นไอเดียของโก งานนี้จึงเป็นผลงานร่วมกันของเคน กับ โก
.
ในด้านเนื้อเรื่องเก็ตเตอร์เป็นเรื่องราวของ กลุ่มนักสู้วัยรุ่นที่ต่อสู้กับจักรวรรดิ์ของพวกมนุษย์ที่วิวัฒนาการมาจากสัตว์เลื้อยคลานผู้ครอบครองโลกมาแต่โบราณ แต่เพราะรังสีลึกลับจากอวกาศตั้งแต่ 65 ล้านปีก่อน ทำให้พวกนี้เกือบจะสูญพันธุ์จนต้องหลบหนีไปอยู่ใต้โลก แต่รังสีนั้นกลับกระตุ้นวิวัฒนาการในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมให้วิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว จนกลายมาเป็นมนุษย์ในปัจจุบัน โดยพวกเขาใช้ยานสามลำ(อีเกิ้ล,จากัวร์,แบร์) ซึ่งใช้พลังงานชนิดเดียวกับรังสีที่ทำให้เกิดการวิวัฒนาการ โดยศาสตราจารย์ซาโอโตเมะที่ค้นพบพลังงานนี้เป็นผู้สร้างขึ้น
.
ยานทั้งสามสามารถประกอบร่างเป็นหุ่นยนต์ยักษ์ได้ และเมื่อเรียงสลับกันก็สามารถแปลงร่างได้อีกโดยที่แต่ละแบบมีความสามารถที่แตกต่างกันโดยเหมาะกับสภาพภูมิประเทศที่แตกต่างกันไป เก็ตเตอร์วัน สำหรับใช้ในอากาศ, เก็ตเตอร์ทูที่มีความเร็วสูง และคล่องตัวมากบนพื้นดิน และเก็ตเตอร์ทรีที่ใช้รบใต้น้ำได้ดีที่สุด
.
หนังฮิทระเบิดและทำให้ประโยคเด็ดที่เหล่าตัวเอกต้องร้องตอนหุ่นจะแปลงร่างกลายเป็นคำฮิท “Change Getter… Switch On” และนับแต่นั้นโลกก็ได้รู้จักกับหุ่นแปลงร่าง และหุ่นประกอบร่าง ที่จะมีตามกันมาอีกนับไม่ถ้วน
.
อะนิเมะและมังงะของเก็ตเตอร์ ต่างกันไปกันคนละทาง
เก็ตเตอร์เปิดตัวแบบอะนิเมะทางทีวี และคล้อยหลังเพียงสามวันมังงะตอนแรกจากลายเส้นของ อิชิคาว่า เคน ก็ลงในนิตยสารโชเน็น ซันเดย์ รายสัปดาห์ โดยเนื้อหาหลัก(หุ่นเก็ตเตอร์สู้กับจักรวรรดิ์ไดโนเสาร์)จะคล้ายกัน แต่บุคลิกลักษณะตัวละครไปกันคนละทางเลย ในมังงะเรียวมะผู้ขับเก็ตเตอร์วันเป็นไอ้บ้าวิชาการต่อสู้ที่ทั้งทั้งชีวิตมอบให้การล้างแค้นให้พ่อ ส่วนในอะนิเมะเขาเป็นนักเรียนต้นแบบกัปตันทีมฟุตบอล ส่วนฮายาโตะผู้ขับเก็ตเตอร์ทูในมังงะเป็นนักเรียนอัจฉะริยะหัวรุนแรงจอมโหดที่วางแผนจะฆ่ารัฐมนตรีเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่ในอะนิเมะเขาเป็นหนุ่มเท่ผู้ชาญฉลาด มุซาชิจะคล้ายๆกันเป็นคนใจดีผู้หลงรักมิจิรึลูกสาวของศาสตราจารย์ซาโอโตเมะ ตัวมิจิรึเองในอะนิเมะก็จะมีบทบาทมากกว่าในมังงะ แต่ที่ต่างกันมากๆคือศาสตราจารย์ซาโอโตเมะ ที่ในอะนิเมะเป็นคนดูใจดีแต่ในมังงะเป็นคนที่แข็งกร้าวมุ่งมั่น ขนาดลูกชายตายไปต่อหน้ายังไม่สนแต่เร่งทำงานต่อไปทันที ที่สำคัญคือหน้าตาไม่ได้ใกล้เคียงกันเลย
.
ชื่อเก็ตเตอร์สันนิษฐาน(เอาเอง)ว่าน่าจะมาจากคำว่า "Together"(ร่วมกัน) เป็นผลงานร่วมของนางาอิ โก กับอิชิคาว่า เคน และกลุ่มไดนามิค โปร เป็นงานชิ้นสำคัญที่สร้างชื่อให้แก่อิชิคาว่า เคน และเป็นเรื่องที่ช่วยปักหลักให้กับนางาอิ โก และกลุ่มไดนามิคโปร กลายเป็นเจ้าพ่อวงการการ์ตูนหุ่นยนต์ของญึ่ปุ่นในยุค 70 และตามมาด้วยการ์ตูนหุ่นยนต์โดยทีมงานของเขาอีกมากมายหลายเรื่อง(เช่นจี๊ค,ไกคิงก์
.
อะนิเมะและมังงะของเก็ตเตอร์ ประสบความสำเร็จอย่างงามส่วนหนึ่งมาจากความสัมพันธ์ของตัวนักบินทั้งสามของเก็ตเตอร์ ที่ในฉบับอะนิเมะล้วนแต่มีตอนที่น่าจดจำของตัวเอง และเมื่อเรื่องเดินไปถึงกลางๆเรื่องคุณ ชินอิจิ คิมูระ และ นางาอิ โก ที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในด้านเนื้อเรื่องให้กับฉบับอะนิเมะ เกิดไอเดียว่าจะสอนให้เด็กๆแฟนของอะนิเมะชุดนี้ว่า “ในโลกนี้ ไม่มีใครไร้เทียมทาน” โดยการฆ่าตัวพระเอกของเรื่องอย่างนางาเระ เรียวมะเลยเอาเรื่องนี้ไปคุยกับ เคน เคนเห็นด้วยแม้จะเชื่ออยู่ลึกๆว่า “คงไม่มีทางเป็นไปได้” ซึ่งก็จริง เพราะเมื่อเอาเรื่องนี้ไปปรึกษาโตเอะ ทางโตเอะก็ไม่อนุมัติจริงๆ เพราะการฆ่าพระเอกออกจะโหดร้ายไปหน่อยสำหรับเด็กๆ และเสนอว่าถ้าอยากจะฆ่ากันจริงๆขอเป็นตัวละครรองแล้วกัน ผลจึงมาออกที่มุซาชิ และกลายเป็นตอนจบที่ฝังใจที่สุดสำหรับการ์ตูนหุ่นยนต์ยุค 70
.
ในมังงะเคนปูเรื่องตั้งแต่เรียวมะดูเหมือนว่าจะสละชีวิตในการต่อสู้ แล้วก็กลับมาในสภาพความจำเสื่อม จนไม่สามารถขับเก็ตเตอร์ได้ ขณะที่การรบก็หนักหน่วงยิ่งขึ้น เพราะมีศัตรูใหม่โผล่มา”จักรวรรดิ์ยักษ์ฮักกิ” มนุษย์ที่ดัดแปลงพันธุกรรมตนเองจนกลายเป็นยักษ์เพื่อครองโลก
.
ที่สุดเมื่อสถานการณ์คับขัน มุซาชิตัดสินใจขับเก็ตเตอร์ออกไปเพียงลำพังลุยไปถึงใจกลางจักรวรรดิ์ไดโนเสาร์ แล้วระเบิดเตาพลังงานเก็ตเตอร์สละชีพ ทำให้จักรวรรดิ์ไดโนเสาร์หมดสภาพ นายพลแบ็ทนำกำลังพลที่เหลือกลับลงใต้ดิน ทิ้งจักรพรรดิ์กูลไว้เพียงลำพัง ที่สุดกูลก็โดนพวกยักษ์ฮักกิสังหาร และเตรียมยึดโลก
.
แต่ดร.ซาโอโตเมะมีแผนสำรองไว้ด้วยเก็ตเตอร์ตัวใหม่ เก็ตเตอร์ G ให้เรียวมะที่ฟื้นคืนสติจากการตายของมุซาชิ กับฮายาโตะขับออกมาต่อต้านพวกยักษ์ แล้วเรื่องก็จบลงตรงนี้ เพื่อเข้าสู่ภาคเก็ตเตอร์ G ในทันที
.
ส่วนภาคทีวีทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวบรัด เมื่อเก็ตเตอร์เสียหายจากการต่อสู้จนทำให้เรียวมะและฮายาโตะบาดเจ็บไม่อาจขับเก็ตเตอร์ได้ เหลือแต่มุซาชิคนเดียวจึงตัดสินใจชิงขับยานสนับสนุนของมิจิรึที่ติดระเบิดออกมาแทนเธอและศาสตราจารย์ซาโอโตเมะ ไประเบิดฐานทัพของจักรวรรดิ์ไดโนเสาร์ แล้วเรื่องก็จบ ในตอนที่ 51แล้วอาทิตย์หน้าก็ดูเก็ตเตอร์ G ต่อได้เลย
.
ในภาคต่อนี้ ศัตรูที่เปลี่ยนไปเป็นพวกยักษ์ฮักกิ เป็นยักษ์ที่มีเขา เปลี่ยนสมาชิกร่วมทีมจากโทโมเอะ มุซาชิเป็นคุรามะ เบ็นเคย์ (ที่ในอะนิเมะจะดูเด่นกว่าในมังงะที่แทบจะไม่มีบท) พร้อมกับเก็ตเตอร์ตัวใหม่ที่ออกแบบมาสลับซับซ้อนและอาวุธที่เพียบกว่าเดิม(และชื่อใหม่ จากที่เรียกง่ายๆเป็นหมายเลข 1,2,3 ก็กลายเป็น ดราก้อน,ไลก้า และโปเซดอน)
.
เก็ตเตอร์ G ประสบความสำเร็จ แต่กลับมีเพียง 39 ตอน
หนังประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับภาคแรก แต่สั้นลงเหลือ 39 ตอน เช่นเดียวกับมังงะที่สั้นลงราวกับอิชิคาว่า เคนหมดมุกแล้ว แต่จุดเด่นเรื่องความแปลกใหม่นั้นหมดไปแล้ว ทำให้ดูน่าตื่นเต้นน้อยลง มีหนังใหญ่ในตอนที่ครอสโอเวอร์แบบรวมดาวด้วย ในเกรนไดเซอร์ พบ เกรท มาชีนก้า พบ เก็ตเตอร์ G ผมมีรูปคอนเซ็ปท์ดีไซน์แรกของเก็ตเตอร์ G ฝีมือนางาอิ โก เจ้าของคอนเซ็ปท์ไอเดียดั้งเดิมของเก็ตเตอร์ เรื่องของหุ่นแปลงร่าง ที่คุณๆจะเห็นได้เลยว่า มันไม่ได้ใกล้เคียง กับไอเดียของอิชิคาว่า เคน และเก็ตเตอร์ G ที่ออกมาในที่สุดเลย
.