Anime Talk
คุยส่งท้ายหลังดู ก็อดซิลล่า ปฐมบทวิบัติโลก Godzilla Singular Point จบแล้ว
ตอนที่ทำคลิป Godzilla Singular Point ตอนนั้นเป็นช่วงที่อนิเมเพิ่งลงใหม่ๆเลยไม่อยากพูดสปอยล์เนื้อหาอะไรมากนักเพราะกลัวจะเสียอรรถรสในการรับชมไป เพราะเนื้อหาของภาคนี้มีจุดเซอร์ไพร์สค่อนข้างเยอะ แต่พอถึงตอนนี้คิดว่าเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่งแล้ว (น่าจะราว 1 เดือนได้) ก็เลยคิดว่า น่าจะมาพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้กันต่อจากในคลิป ถือว่าเป็นการแชร์มุมมองและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันนะครับ
ก็อดซิลล่า ที่ไม่เกี่ยวกับนิวเคลียร์ และเนื้อหาที่ดูเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น
ที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของก็อตซิลล่า มักจะถูกผูกจุดกำเนิดเชื่อมโยงกับพลังงานนิวเคลียร์มาโดยตลอด เพราะก็อตซิลล่านั้นเดิมทีถือกำเนิดมาจากความหวาดกลัวนิวเคลียร์ของชาวญี่ปุ่น (ภาคแรกฉายปี 1954 หรือ 9 ปี หลังจากที่เกาะญี่ปุ่นโดนนิวเคลียร์ถล่ม) และหลังจากนั้น ภาพลักษณ์ของก็อตซิลล่า ทั้งญี่ปุ่นและอเมริกา ก็เกี่ยวพันกับพลังงานนิวเคลียร์มาตลอด จนกระทั่งภาค Singular Point นี่แหละครับ ที่เกิดความเปลี่ยนแปลงจุดกำเนิดและความเป็นมาของก็อตซิลล่าและสัตว์ประหลาดในเรื่อง โดยใส่ความเป็นวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เข้าไปมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะ Enjo To คนเขียนบทเรื่องนี้ เป็นนักเขียนไซไฟชื่อดัง เรียนจบด้านฟิสิกส์จากโคโฮขุ ก่อนหน้านี้เคยเขียนบทอนิเม Space Dandy มาก่อนด้วย (เป็นอนิเมไซไฟที่ค่อนข้างดังเฉพาะกลุ่มเรื่องหนึ่ง) พล็อตของเรื่องจึงกลายเป็นไซไฟหนักๆ มากที่สุดภาคหนึ่ง จนบางคนถึงกับมึนทฤษฎีในเรื่องไปเลยก็มี (ซึ่งถ้ามีโอกาส เราอาจจะชวนนักวิทย์ตัวจริงเสียงจริงมาคุย มาอธิบายเรื่องนี้อีกที)
เด็กเนิร์ดกู้โลก กับการเล่าเรื่องแนวใหม่
จุดเด่นของภาคนี้ก็คือ ตัวเอกทั้งสองคน อาริคาวะ ยุน วิศวกรโปรแกรมที่หน้าตาดูราวกับหลุดออกมาจากเรื่องกินทามะ (ในตอนแรกมีซีนที่ยุนแกซัดฟาร์เฟต์ถ้วยใหญ่เหมือนคุณกินด้วยนะ ลองสังเกตดู ส่วนโอทาคิแฟคตอรี่ที่ยุนทำงานอยู่เอาจริงๆ ก็มีส่วนคล้ายร้านรับจ้างสารพัดอยู่ไม่น้อย คือรับทำงานจิปาถะนั่นแหละ) กับ คามิโนะ เมย์ นักศึกษาผู้สนใจในเรื่องราวของเหล่าสัตว์ประหลาด ที่บังเอิญได้รู้จักกัน ซึ่งเอาจริงๆ คาแรกเตอร์ของทั้งสองก็มาสไตล์เด็กเนิร์ดทั้งคู่เลยครับ คือเป็นเด็กวิทย์ที่เก่งเอามากๆ แต่ที่น่าสนใจกว่าก็คือ ตลอดทั้งเรื่องตัวละครทั้งสองคนนั้นแทบไม่ได้เจอหน้ากันตัวเป็นๆ เลย แต่อาศัยวิธีการสื่อสารผ่านระบบแชทออนไลน์ (คล้ายๆ Line) และเนื้อเรื่องก็เดินไปแบบคู่ขนานจากสองมุม โดยยุนนั้นจะรับมือสัตว์ประหลาดอยู่ในญี่ปุ่น ขณะที่เมย์จะเดินทางเพื่อไขปริศนาของเหล่าสัตว์ประหลาดไปในหลายๆ ประเทศทั่วโลก แต่ก็ร่วมมือกันผ่านการสื่อสารออนไลน์แบบ Chat ซึ่งดูเข้าถึงผู้ชม Gen ใหม่มาก และฉากของเรื่องก็ไม่ได้มีเฉพาะในญี่ปุ่นอย่างเดียวเหมือนภาคอื่นๆ มีซีนความร่วมมือกันแก้ปัญหาในระดับสากล และมีโครงเรื่องที่ดูมีมิติมากกว่าที่จะเป็นแค่หนังสัตว์ประหลาดถล่มเมืองเหมือนที่ผ่านมา
เจ็ทจากัวร์คือตัวเอกตัวจริง
ปฎิเสธไม่ได้เลยครับว่า ก็อตซิลล่าภาคนี้ เจ็ทจากัวร์ดูโดดเด่นกว่าก็อตซิลล่ามากๆ จากจุดเริ่มต้นที่เคยปรากฏใน Godzilla vs Megalon ปี 1973 ซึ่งเหมือนกับเอาหุ่นมาชินก้ามายำรวมกับอุลตร้าแมน (ที่สมัยนั้นกำลังดัง) ถูกนำกลับมาตีความใหม่ในภาค Singular Point โดยมีจุดเริมต้นเป็นแค่หุ่นกระป๋องที่ถูกสร้างขึ้นมาทำงานรับจ้างสารพัด แล้วค่อยๆ พัฒนาตนเองจนเริ่มมีระบบ AI ที่คิดและเรียนรู้ได้เอง ไปจนกระทั่งถึงการต่อสู้ในฉากสุดท้ายที่เจ็ดจากัวร์สามารถขยายร่างได้ (ในเวอร์ชั่นเก่าก็ขยายร่างได้นะครับ อย่างที่บอกว่าได้รับอิทธิพลมาจากอุลตร้าแมนเต็มๆ เลย) ซึ่งถ้าพูดกันตามตรง จะใส่ชื่อเจ็ตจากัวร์เป็นตัวเอกของเรื่องนี้แทนก็อตซิลล่าก็ไม่มีใครว่า เพราะบทแกเด่นจริงๆ สมัยก่อนโตโฮเองก็เกือบจะทำหนังเดี่ยวของเจ็ทจากัวร์มาแล้ว แต่เพาะตอนนั้นกลัวว่าจะขายไม่ได้ ก็เลยเอามาพ่วงกับก็อตซิลล่าที่เราเห็นกันนั่นแหละครับ
เสียดายอย่างเดียว พอดูก็อตซิลล่าภาคนี้จบแล้ว อยากได้ของเล่นของเจ็ตจากัวร์มากๆ โดยเฉพาะเวอร์ชั่นสุดท้าย แต่กลับไม่ค่อยมีใครทำออกมาขายกันสักเท่าไหร่ แปลกใจเหมือนกัน