Robot Freak Votoms

Robot Freak Votoms


Ryosuke Takahashi2 

Armored Trooper Votoms 

หลังประสบความสำเร็จกับดั๊กแกรม ทากาฮาชิก็สร้างอะนิเมชั่นแนวหุ่นยนต์เรื่องต่อไป ที่มืดมนกว่าเดิม จริงจังกว่าเดิม Armored Trooper Votoms (1983)เรื่องของคิริโก้ คิววี่ ที่เกิดและเติบโตมาบนโลกที่มีสงครามมาตั้งแต่เขาเกิด แล้วจู่ๆวันหนึ่งสงครามก็จบ แต่สำหรับเขานั่นกลับเป็นการเริ่มต้นของสงครามที่ดูเหมือนจะติดตามเขาไปตลอดกาล 

 

 

 

“ผมเริ่มต้นทำโวทอมส์ด้วยความคิดที่ติดอยู่ในใจอย่างหนึ่งมาตั้งแต่ดั๊กแกรม นั่นคือขนาดของหุ่นในเรื่อง หุ่นในดั๊กแกรมสูงประมาณ 10 เมตร ซึ่งในแง่การทำอะนิเมชั่นคุณจะทำออกมาให้ดูเล็ก หรือใหญ่ก็ได้ ซึ่งมันไม่ดีในแง่ความรู้สึกเกี่ยวกับขนาดของหุ่น ปัญหาอีกข้อก็คือความเร็วของหุ่นที่มีขนาดเท่านี้  เมื่อเทียบกับ กันดั้ม ที่ฉากสู้ส่วนใหญ่เกิดในอวกาศ และการเคลื่อนที่ดูเร็วมาก ดั๊กแกรมมีฉากการต่อสู้อยู่บนดิน และการเคลื่อนไหวก็ไม่รวดเร็ว  ผลงานเรื่องที่สองผมจึงอยากจะแก้ปัญหาทั้งขนาดและความเร็ว  จากความคิดนี้ผมก็เลยมาคิดว่าจริงๆแล้วหุ่นควรจะสูงสักเท่าไร  ก็น่าจะราวๆ 2-5 เมตร ถ้า 2 เมตร  คนญี่ปุ่นตัวเล็กๆก็คงจะขับมันได้ แต่ขนาด 2 เมตรมันก็ดูจะเป็นเพาเวอร์ดสูท มากกว่าหุ่นเต็มตัว แล้วตอนนั้นเพาเวอร์ดสูท เพาเวอร์ดอาร์เมอร์ก็กำลังฮิท ผมก็เลยคิดว่า ความสูงเท่านี้ไม่ใช่หุ่นแล้ว แต่เป็นเพาเวอร์ดสูท มันเล็กไป แต่ถ้าสูง 5 เมตร เวลาเอาไปวาดอะนิเมะ มันก็จะดูไม่ต่างกับดั๊กแกรมที่สูง 10 เมตรสักเท่าไร  คนจะไม่เห็นความแตกต่างเมื่อเป็นอะนิเมชั่น ผมเลยคิดว่า 4 เมตรน่าจะเหมาะกว่า ขณะเดียวกันคุณโอคาวาร่าก็คิดถึงปัญหานี้เหมือนกัน และก็เห็นด้วยว่า ความสูง 4 เมตรนั่นเล็กสุดแล้วสำหรับหุ่นที่มีคนบังคับข้างใน เราเห็นพ้องกัน แล้วก็เริ่มทำงานจากแนวคิดของหุ่นที่สูง 4 เมตร” 

 

 

 

“ส่วนการเคลื่อนที่ด้วยการลื่นไถล ก็เพื่อเพิ่มความเร็วให้หุ่น สิ่งที่ผมกังวลคือ การใส่ล้อไปใต้เท้าหุ่น จะทำให้หุ่นดูเหมือนของเด็กเล่นหรือเปล่า เพราะสมัยผมยังเด็ก ของเล่นสังกะสีที่ผมมีล้วนแต่มีล้ออยู่ใต้เท้าทั้งนั้น เพื่อแก้ปัญหานี้ผมเลยใส่ซาวด์เอฟเฟคท์ลงไป ให้มันดูสมจริงและโหดขึ้น  มีคนหาว่าการที่ทำให้หุ่นเคลื่อนไหวแบบนี้ก็เพื่อจะได้ไม่ต้องมาวาดหุ่นให้เดินให้เสียเงินมากขึ้น นั่นไม่จริงเลย เพราะดั๊กแกรมประสบความสำเร็จมาก เราเลยมีทุนพอจะจ้างคนมาวาดให้หุ่นเดินทีละก้าวก็ยังได้ เพราะงั้นการเคลื่อนที่แบบลื่นไถลของหุ่นจึงไม่ได้มีสาเหตุเรื่องค่าใช้จ่าย แต่เป็นการเพิ่มความเร็วให้หุ่นล้วนๆ” 

 

 

 

 

“ในส่วนของเนื้อเรื่อง ผมตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเล่าเรื่องไหนดีระหว่างทหารที่ยังอยู่ในระบบ กับ คนที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง ซึ่งไม่ขึ้นอยู่กับกลุ่มไหน หรือฝ่ายใด เลยไปปรึกษาคุณโยชิยูกิ โทมิโนะ ว่าจะเอาแนวไหนดี เขาก็เสนอว่า เสรีชนสิดี ผมก็เลยเขียนตามแนวนั้น แต่ก็มาติดว่า แล้วไหงคนที่ไม่ได้อยู่ในกองทัพจึงต้องไปไหนมาไหนโดยมีหุ่นขับด้วยล่ะ  ผมได้ไอเดียจากหนังของ สตีฟ แม็คควีน เรื่อง Junior Bonner(1972) ที่เดินทางไปตามเมืองต่างๆพร้อมม้าคู่ใจเพื่อร่วมแข่งโรดีโอเลี้ยงชีพ  คิริโก้เลยเดินทางไปตามเมืองต่างๆ พร้อมหุ่นคู่ใจเพื่อประลองในสังเวียนหุ่นเลี้ยงชีพ เขาจึงยังขับหุ่นได้โดยไม่ได้เป็นทหาร ส่วนสังเวียนหุ่นรบผมได้ไอเดียจากมวยปล้ำอาชีพ กับประสบการณ์ที่เห็นมาช่วงหลังสงครามโลก รถจี๊ปที่ทหารเคยใช้ในช่วงสงครามกลายเป็นของที่เห็นคนใช้กันทั่วไป หุ่นรบเมื่อจบสงครามแล้วก็น่าจะถูกเอามาใช้อย่างอื่นกันบ้างแหละ” 

 

 

 

“ตอนดั๊กแกรมจบ ผู้จัดการของทาการ่าที่เป็นสปอนเซอร์หลักมาหาผม และขอร้องเรื่องหนึ่ง ถึงดั๊กแกรมจะฮิท แต่ในด้านภาพ มันไม่มีอะไรที่น่าตื่นตาตื่นใจเลย ด้วยคำขอนี้ในโวทอมส์จึงมีฉากอย่าง “วูโด้” เมืองอนาคตแบบใน Blade Runner แต่มีซากยานอวกาศโผล่พ้นดินออกมา เพื่อสนองความต้องการของสปอนเซอร์เรื่องจะเปิดที่เมืองอนาคคตอย่างวูโด้  ก่อนจะเปลี่ยนฉากมาเป็นป่าของคุมเมน ตอนนั้นผมมีไอเดียว่าเพื่อสร้างความตื่นตาในเรื่องของฉาก ทุกราวๆ 12 ตอน เราจะเปลี่ยนฉากของเรื่อง ส่วนเนื้อหาของตัวละคร คิริโก้ เขาเป็นคนที่รู้จักแต่สงครามมาตั้งแต่เกิด แล้วจู่ๆสงครามก็จบ  แล้วเขาก็ถูกโยนสู่โลกอนาคตแบบเบลด รันเนอร์ คิริโก้ที่ไม่รู้อะไรเลยนอกจากการต่อสู้ ต้องพยายามฟื้นฟูความเป็นคนในตัวเองให้กลับคืนมา นี่คือเรื่องของเรา แต่การปรับตัวก็ไม่อาจเป็นไปได้ง่าย เพราะคิริโก้ อยู่ภายใต้การจับตามองของไวส์แมนที่รู้ถึงพลังพิเศษในตัวคิริโก้ และหวังจะเอาเขามาเป็นทายาทเพื่อครอบครองกาแล็กซี่ เพื่อให้เป็นไปตามนั้นจึงให้คิริโก้ได้พบกับเฟียน่า แต่คิริโก้กลับไม่เป็นไปตามที่ไวส์แมนต้องการ เขาต้องการอิสระ และเลือกหนทางของเขาเอง  ทำให้ตั้งแต่กลางเรื่องผมสามารถใส่เนื้อหาเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระของตัวเองเข้าไปได้” 

 

 

 

สำหรับผู้ที่ยังไม่รู้ โวทอมส์เล่าเรื่องของคิริโก้ คิววี่ อดีตหน่วยพิเศษ Red Shoulder ที่ถูกส่งไปปฏิบัติการลับที่เหมือนเป็นการหักหลังฝ่ายตนเอง จนได้เจอกับสาวลึกลับ “เฟียน่า” ปฏิบัติการโดนหักหลัง คิริโก้ถูกตราหน้าว่าเป็นคนทรยศ และเมื่อเขาหนีจากการคุมขังจึงถูกตามล่า ก่อนที่จะเผยว่าจริงๆเขาถูก “ไวส์แมน” สิ่งมีชีวิตเก่าแก่ที่ปกครองกาแล็คซี่ของโวทอมส์มาเนิ่นนาน และเป็นต้นกำเนิดของสงครามร้อยปี สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นทายาทในการปกครองกาแล็กซี่ (Perfect Soldier) แต่สุดท้ายคิริโก้กลับไม่ยอมตามไวส์แมน และโค่นล้มไวส์แมนได้สำเร็จ 

 

โวทอมส์ออกอากาศจำนวนทั้งหมด 52 ตอน  แล้วก็มีการสร้างภาคเสริม มีทั้งบทก่อน เรื่องราวในทีวี และบทต่อมา รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยว และไม่เกี่ยวกับคิริโก้ออกมาอีกมาก เรียกว่าน่าจะเป็นเรื่องที่มีภาคเสริมมากที่สุดในบรรดา Real Robot รุ่นเดียวกัน แต่หากอยากหาดูให้ครบ ล่าสุดญี่ปุ่นเพิ่งออก BD Perfect Soldier Box ออกมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์นี้เอง 

 

 

 

 

และแน่นอนว่าเมื่อหนังสร้างต่อเนื่องกันมายาวนานย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลงในแง่เทคนิคการสร้าง ในกรณีของโวทอมส์ก็เช่นกัน เทคนิคอย่าง CG Animation ก็ถูกเอามาใช้ในตอน “เพลเสนไฟล์” (ชื่อของผู้บัญชาการหน่วยเรด โชลเดอร์) ในฉากต่อสู้ของAT (ส่วนหนึ่งน่าจะเพราะการเอาอะนิเมะเรื่องนี้ไปสร้างเป็นเกมด้วยที่ทำให้ต้องสร้างตัวหุ่นเป็น CG)  คุณทากาฮาชิเล่าถึงเรื่องนี้ว่า “พูดถึงเพลเสนไฟล์ ฉากเปิดที่เป็นการโจมตีฐานบนชายหาด มักบอกว่าผมได้แรงบันดาลใจจาก Saving Private Ryan แต่จริงๆคนรุ่นผมน่ะมาจากหนังอย่าง The Longest Day (1962 หนังที่ว่าด้วยการยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี เหตุการณ์เดียวกับในSaving Private Ryanแต่มีแค่เหตุการณ์นั้นอย่างเดียว) มากกว่า ส่วนการเอา CG มาใช้กับตัวหุ่นในโวทอมส์ภาคหลังๆ ผมว่ามันทำให้ดูดีขึ้นนะ สำหรับในญี่ปุ่นที่ค่าใช้จ่ายในการทำอะนิเมะนั้นต่ำมาก ทำให้ต้องวาดแม้แต่ฉากต่อสู้ของหุ่นยนต์จำนวนมากก็ยังต้องวาดด้วยมือ  ทำให้เมื่อก่อน ฉากต่อสู้ของหุ่นยนต์จึงมักจะถูกเขียนให้เป็นแบบตัวต่อตัว แต่ด้วย CG ฉากการต่อสู้จากนี้ไปก็คงซับซ้อนขึ้นได้มาก” 

 

 

 

ในส่วนของภาคแยก หนึ่งในภาคแยกที่โด่งดังที่สุดก็น่าจะเป็น Kikou Ryohei Mellowlink (Armor Hunter Mellowlink)   เรื่องของทหารเดนตายที่รอดจากการถูกหักหลังแล้วออกตามล้างแค้นผู้บัญชาการกับคนที่หักหลังเขาทั้งๆที่ไม่มี AT ใช้ ออกเป็น OVA 12 ตอนจบ เมื่อปี 1988 คุณทากาฮาชิเล่าถึงเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า 

 

 

 

“ผมได้ไอเดียจากภาพๆหนึ่งในหนังสือ Votoms Odyssey เป็นภาพของ Panzer Hunter ที่ไม่มีเนื้อเรื่องประกอบอะไร แต่ผมชอบมาก ทำให้เกิดไอเดียในการที่จะเขียนเรื่องเกี่ยวกับคนๆ นี้ขึ้นมา (เป็นภาพประกอบบทความว่าด้วยอาวุธและเครื่องแบบทหารในกาแล็กซี่ของโวทอมส์) เขาเคยเป็นนักบินของหุ่นยนต์ แต่ต้องสูญเสียมันไป แล้วเขาก็มีแค่ความมุ่งมั่นที่จะล้างแค้น แต่ไม่มีหุ่น แล้วเขาจะทำได้ยังไง” 

 

 

 

“แรกเริ่มเดิมทีผมตั้งใจจะเขียนออกมาเป็นนิยาย เพราะงั้นไอเดียของเมลโลว์ลิงค์ทั้งหมดจึงมาจากตรงนั้น ผมเขียนนิยายตีพิมพ์ออกมาแล้วเล่มนึง ตั้งใจว่าจะเขียนสองเล่มจบ แต่งานเขียนนิยายมันเป็นความเจ็บปวดสำหรับผม ผมเลยหลบเลี่ยงมันมาตลอด จนป่านนี้ผมเลยยังไม่ได้เขียนมันออกมาสักที” 

 

 

 

“เมลโลว์ลิงค์เป็นงานกำกับของ ทาเคยูกิ คันดะ เขาเคยกำกับ Round Vernian Vifam ผมว่าเขาเก่งเรื่องตัวละครหนุ่มสาวนะ ผมเลยทำให้ตัวละคร อะลิตี้ เมลโลว์ลิงค์ เด็กกว่าคิริโก้  แล้วคำว่า “เมลโลว์” ก็บอกแล้วว่าเขา “อ่อนโยน” และ “อ่อนไหว” กว่าด้วย ผมอยากจะทำเรื่องที่มีพื้นฐานที่ผู้คน เรื่องของความเชื่อที่เมลโลว์ลิงค์มีให้กับเพื่อนๆ และการแก้แค้นที่ถูกหักหลัง เพราะงั้นเรื่องทั้งหมดก็จะเกี่ยวกับการล้างแค้น เหมือนในละครซามูไร ผมตั้งใจจะเอาเรื่องแบบนั้นมาทำเป็นอะนิเมะหุ่นยนต์” 

   


การชำระเงินผ่าน อินเตอร์เน็ต แบงกิ้ง

(เสียค่าบริการ Vat 7%)

powerupmag

การชำระเงินผ่าน เคาน์เตอร์เซอร์วิส

(เสียค่าบริการ Vat 7%)

powerupmag

ช่องทางขนส่งสินค้า

จัดส่งสินค้าภายใน 3-7 วันทำการ

powerupmag
Copyright © 2018 All rights reserved. | powerupmag.com