He-Man and the Masters of the Universe

He-Man and the Masters of the Universe


จะเล่าถึงอะนิเมชั่น He-Man ก็ต้องเล่าถึงของเล่นที่ทำให้เกิดอะนิเมชั่นชุดนี้ขึ้นมา เรื่องมันเริ่มในช่วงปลายยุค 70 ถึงต้น 80 Mattel บริษัทของเล่นยักษ์ใหญ่ ไม่ตกลงเรื่องลิขสิทธิ์ของเล่นของหนังเล็กๆ เรื่องหนึ่งชื่อ Star Wars ทำให้สิทธิ์นี้ไปตกอยู่กับบริษัท Kenner ที่สำคัญผู้บริหารเคนเนอร์เป็นลูกหม้อเก่าของแมทเทล แถมของเล่นยังขายดีอีก ทำให้กลายเป็นแผลใจที่ผู้บริหารแมทเทลต้องก้าวข้ามให้ได้ ลองซื้อสิทธิ์ของเล่นจากหนังเรื่องอื่นก็ขายไม่ดีเท่าสตาร์วอร์ส ในที่สุดก็เลยตัดสินใจออกของเล่นเองดีกว่า แต่กว่าจะได้มาเป็นแอคชั่นฟิกเกอร์หนุ่มหุ่นล่ำ ไซส์ 5.5 นิ้ว ที่เรียกว่าใหญ่กว่าสตาร์วอร์สที่ฮิทๆ กันทุกประการก็เป็นเรื่องยืดยาว แล้วในที่สุดก็ได้ออกมาเป็น He-Man and the Masters of the Universe

 

 

แล้วปัญหาก็เกิดขึ้นตอนเสนอขายให้ร้านค้า กับคำถามที่ว่า “จะทำยังไงให้คนรู้จักของเล่นไลน์นี้” เริ่มต้นแมทเทลก็บอกว่าจะมี “มินิคอมิค” ใส่มาในแผง  แต่เมื่อโดนท้วงว่ากลุ่มเป้าหมายของของเล่นเป็นเด็ก 5 ขวบที่ยังอ่านหนังสือไม่ออกนะ แมทเทลเลยตอบไปว่าจะมีหนังการ์ตูนมาช่วยโปรโมท (ทั้งที่จริงๆ ตอนนั้นยังไม่มีเลย) ก็เลยต้องไปจ้างบริษัทอย่าง Filmation มาผลิตให้

Filmation เป็นมือเก่า ก่อตั้งมาตั้งแต่ยุค 60 ผลิตทั้งอะนิเมชั่นและหนังคนแสดง ถ้าเป็นแนวไลเซนส์ก็มีทั้งอะนิเมชั่นของตัวละครจาก DC อย่างซูเปอร์แมน แบทแมน อะควอแมน (ที่เป็นตอนสั้นๆ เมื่อก่อนชอบฉายตอนจบข่าว 2 ทุ่มให้เด็กดูก่อนไล่ไปนอน) กับการ์ตูนจาก Archie Comics หรือแม้กระทั่ง Star Trek ที่นี่ยังเป็นที่สร้างหนังคนแสดงอย่าง Shazam และ Isis อีกด้วย หนึ่งในผลงานการ์ตูนของที่นี่ก็คือ Blackstar ที่มีแนวใกล้เคียงกับ He-Man เอามากๆ เริ่มแรกแมทเทลแค่อยากทำเป็นตอนพิเศษความยาว 2 ชั่วโมง แต่ฟิลม์เมชั่นเสนอว่า งบเท่านี้พวกเขาทำมันออกมาเป็นซีรี่ส์ได้เลย หัวเรือใหญ่ของที่นี่ชื่อ ลู ชีมเมอร์ (Lou Scheimer) ที่เมื่อตอนที่ซีรี่ส์การ์ตูนฮี-แมนสร้างเสร็จ เขาได้เรียกทีมงานแมทเทลไปดูและออกปากว่าซีรี่ส์นี้ต้องฮิทแน่ๆ

 

ลูคาดไม่ผิดครับ ฮี-แมนฮิทจริง ซีรี่ส์เปิดตัวเมื่อ 26 กันยายน 1983 แล้วก็กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ฮิทอย่างยิ่ง ช่วยเพิ่มยอดขายให้ของเล่นที่ออกขายตั้งแต่ปี 1982 ได้อย่างมาก จนทำให้ของเล่นที่ออกตามมาต่างก็ต้องมีซีรี่ส์หนังการ์ตูนเพื่อช่วยเพิ่มยอดขายกันถ้วนหน้า ช่วงที่พีคสุด ของเล่นฮี-แมนทำยอดขายได้ถึง 400 ล้านดอลลาร์ในปี 1986 ส่วนซีรี่ส์ฮี-แมนก็สร้างออกมาสองปี รวมจำนวน 130 ตอน

เนื้อหาของการ์ตูนก็แตกต่างจากในมินิคอมิคที่แถมมาในแพ็ค ในคอมิค ฮี-แมนเป็นนักรบจากเผ่านักรบ ออกเดินทางมาสู้กับ สเกเลธอร์(วายร้ายหัวกะโหลก หัวหน้าเหล่าวายร้ายของเรื่อง) ที่หมายจะแย่งชิงดาบพลังเพื่อใช้ไขความลับของปราสาทเกรย์สคัลล์ ส่วนในหนังการ์ตูน ฮี-แมน คือ เจ้าชายอดัม ที่เมื่อใดจับดาบวิเศษแลัวพูดว่า “ด้วยอำนาจแห่งเกรย์สคัลล์” เขาก็จะกลายเป็น ฮี-แมน พร้อมกับร้องว่า “ฉันมีพลัง” (ตามช่อง 3 เป๊ะ) เพื่อปกป้องพลังอำนาจของปราสาทเกรย์สคัลล์จากสเกเลธอร์ที่หวังจะครอบครองสิ่งนี้ พร้อมด้วยทัพของสมุนมากมาย แต่ฮี-แมนก็มีผู้ช่วยไม่น้อยกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็น แมน-แอท-อาร์ม ธีล่า แรม-แมน ออร์โก้(เพราะทั้งสองฝ่ายคือสินค้าที่แมทเทลทำมาขาย) โดยสรุป หนังการ์ตูนนั้นใส เรียบง่าย และมีอารมณ์ขันกว่าคอมิคเยอะ แถมตอนท้ายของทุกตอนยังมีบทเรียนสอนใจ เพื่อไม่ให้ดูเป็นหนังการ์ตูนขายของเล่นจนเกินไป

 

และเมื่อฮี-แมนฮิท ก็มีการแตกไลน์เป็น She-Ra Princess of Power ซึ่งฟิลม์เมชั่นก็ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่วางแผนจะผลิต โดยทำการ์ตูนซีรี่ส์ออกมาฉายด้วยเช่นกัน โดยเริ่มฉายเมื่อ 9 กันยายน 1985 จำนวน 2 ซีซั่น รวม 93 ตอน  เป็นเรื่องราวของ เจ้าหญิงอะดอร่า น้องสาวฝาแฝดของเจ้าชายอดัมที่ต่อสู้ร่วมกับพวกพ้องเพื่อปลดปล่อยดาวอีเธอเรียจากวายร้าย ฮอร์ดาค โดยชี-ราเปิดตัวในหนังโรงตอนพิเศษ He-Man and She-Ra: the Secret of the Sword ที่ออกฉายในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 1985 แล้วตามมาด้วย He-Man and She-Ra Christmas Special ในปีเดียวกัน ซีรี่ส์ทั้งสองจบชุดไล่เลี่ยกับความตกต่ำของของเล่นชุดนี้ แต่นั่นไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่เราจะได้ยินชื่อ ฮี-แมน และ ชี-รา

 

 

เพราะในปี 1989 แมทเทลก็คืนชีพของเล่น He-Man ขึ้นมาใหม่ในชื่อใหม่ The New Adventure of He-Man แต่ซีรี่ส์นี้เปลี่ยนฉาก เนื้อเรื่อง องค์ประกอบ และตัวละครจนหมดสิ้น ที่ได้กลับมามีแค่ ฮี-แมน กับ สเกเลธอร์ แถมเปลี่ยนฮี-แมนเป็นผู้พิทักษ์อวกาศต่อสู้กับพวกสเปซมิวแทนท์ มีการสร้างซีรี่ส์การ์ตูนออกมาด้วย โดย Jetlag Productions ออกฉายตอนแรก 17 กันยายน 1990 สร้างออกมาได้ 65 ตอนก็เลิก เพราะของเล่นไม่ได้รับความนิยม

 

 

แล้วฮี-แมนก็หายไปเป็นสิบๆ ปี จนเมื่อเข้าสหัสวรรษใหม่ แมทเทลลองออกชุดที่ระลึกของฟิกเกอร์ฮี-แมน แล้วได้รับความนิยม เลยจะผลิตสินค้าไลน์นี้ตัวใหม่ๆ ออกมา ก็เลยมีการสร้างอะนิเมชั่นออกมาด้วยโดย Mike Young Productions มีความยาว 39 ตอน (2 ซีซั่น) ออกฉายทาง Toonami ช่อง Cartoon Network ฉายตอนแรกเมื่อ 16 สิงหาคม 2002 เนื้อเรื่องฉบับนี้จะใกล้เคียงกับฉบับฟิลม์เมชั่น แต่จริงจังขึ้น และเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ฮี-แมนดูจะตัวเล็กลง และเป็นส่วนหนึ่งในทีมผู้ปกป้องอีเธอเนียร์ที่เรียกว่า Master of the Universe ส่วนสเกเลธอร์(ที่ในเรื่องนี้เผยว่า จริงๆ คือน้องชายของกษัตริย์แรนดอร์ พ่อของฮี-แมน) ก็ดูจะถูกลดบทบาทไปด้วยการปรากฏตัวของวายร้ายตัวใหม่ King Hiss กับพวกมนุษย์งู (จริงๆ ตัวละครนี้มีแผนจะโผล่มาตั้งแต่สมัยของเล่นชุดแรก แต่ของเล่นยอดตกก่อน เลยยกเลิกไป) เช่นเดียวกับชื่อซีรี่ส์ที่เดิมคือ He-Man and the Master of the Universe ก็ถูกเปลี่ยนเป็น Masters of the Universe vs. The SnakeMen ตั้งแต่ช่วงท้ายของซีซั่นแรก หนังฉายถึงปี 2004  จำนวนรวม 39 ตอน จริงๆมีแผนจะสร้างตอนที่ 40 ด้วย แต่หนังถูกยกเลิกก่อนจึงเอาตอนนี้ไปออกเป็นหนังสือการ์ตูนแทน เนื้อหามีการวางแผนว่าจะเล่าถึงการต่อสู้ของบรรพบุรุษของฮี-แมนเพื่อปกป้องอีเธอเนียด้วยแต่ถูกเลิกสร้างก่อน

 

 

หลังจากนั้น ฮี-แมนก็ถูกหล่อเลี้ยงด้วยตลาดนักสะสม บริษัทของเล่นเล็กๆ ที่ผลิตสินค้าเพื่อนักสะสมเช่น Super 7 เอาตัวละครจากชุดดั้งเดิมมาปรับปรุงและผลิตขายใหม่ ทั้งตัวที่เคยออก และเคยเป็นแค่แบบร่าง ด้วยบริษัทเหล่านี้ที่ช่วยกันออกสินค้ามา ทำให้ชื่อฮี-แมนไม่เป็นเพียงแค่ตำนาน

จนในปี 2019 อะนิเมชั่นในเครือฮี-แมนก็กลับมาอีกครั้ง เมื่อ Dreamworks SKG ผลิตอะนิเมชั่น She-Ra : Princess of Power ให้กับทาง Netflix โดยได้นักเขียนมือรางวัลอย่าง โนเอลล์ สตีเวนสัน มาเป็น Executive Producer ซึ่งก็เปลี่ยนแปลงทั้งรูปลักษณ์ ความเป็นมา ความสัมพันธ์ หรือแม้แต่เพศของตัวละครจากฉบับของฟิลม์เมชั่นไปอย่างมาก ซีรี่ส์นี้ออกฉายทาง Netflix ระหว่างปี 2018-2020 มี 5 ซีซั่น รวม 52 ตอน

 

 

เดือนสิงหาคม 2019 เควิน สมิธ ผู้กำกับ/นักเขียน ประกาศในงาน Power-Con งานชุมนุมของแฟนๆ He-Man ว่ากำลังพัฒนาอะนิเมชั่น Master of the Universe ชุดใหม่ ในชื่อ Revelation ที่จะเป็นเหมือนภาคต่อของฉบับดั้งเดิม มีกำหนดจะปล่อยสตรีมทาง Netflix ในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ โดยรูปที่ปล่อยออกมาก็ยังคงสไตล์ดั้งเดิม และสมิธก็ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่าเขาตั้งใจจะสานต่อเรื่องดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงให้น้อยที่สุด จะเน้นเป้าที่ผู้ใหญ่ซึ่งก็คือแฟนดั้งเดิม แต่ก็จะให้เป็นความบันเทิงสำหรับครอบครัวอีกด้วย หนึ่งในผู้ให้เสียงพากย์ที่น่าสนใจคือ มาร์ค แฮมิลล์ ที่จะมาให้เสียงเป็นสเกเลธอร์  และแน่นอนแมทเทลจะออกของเล่นรุ่นปรับปรุง

 

 

นอกจากนี้ Netflix ยังมีแผนพัฒนาซีรี่ส์อะนิเมชั่นแบบ CGI ของ Master of the Universe อีกด้วย โดยใช้ทีมผลิตคนละทีมกับทีมของสมิธ แต่อันนี้ยังไม่มีข้อมูลอะไรมากไปกว่านี้ครับ

 


การชำระเงินผ่าน อินเตอร์เน็ต แบงกิ้ง

(เสียค่าบริการ Vat 7%)

powerupmag

การชำระเงินผ่าน เคาน์เตอร์เซอร์วิส

(เสียค่าบริการ Vat 7%)

powerupmag

ช่องทางขนส่งสินค้า

จัดส่งสินค้าภายใน 3-7 วันทำการ

powerupmag
Copyright © 2018 All rights reserved. | powerupmag.com