Fang of the Sun Dougram

Fang of the Sun Dougram


Fang of the Sun Dougram 

ผมได้เขียนเล่าถึงโยชิยูกิ โทมิโนะ ผู้มีบทบาทสำคัญกับอะนิเมะหุ่นยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาย “Real Robot” แต่ถ้าดูรายชื่อผลงานที่ผมไล่มาตลอดจะเห็นว่าขาดงานอะนิเมะหุ่นยนต์ที่เด่นๆอีกหลายเรื่องจากค่าย Sunrise วันนี้ผมเลยจะมาเล่าถึงผู้กำกับอีกคนของซันไรส์ที่มีอิทธิพลต่องานแนวนี้ เขาก็คือ ทากาฮาชิ เรียวสุเกะ  

บอกกันก่อนว่าบทความนี้ส่วนใหญ่เก็บความจากบทสัมภาษณ์ที่คุณทากาฮาชิเล่าถึงเบื้องหลังงานอะนิเมะหุ่นยนต์เรื่องสำคัญที่เขาสร้าง รวมกับข้อมูลจากหลายๆที่นะครับ บางช่วงจึงขอยกบทสัมภาษณ์มาใส่จะได้เข้าใจชัดเจนกว่า 

  

ทากาฮาชิ เรียวสุเกะ เกิดเมื่อ  11 มกราคม 1943 ที่โตเกียว แรกเริ่มทากาฮาชิไม่ได้สนใจอะนิเมชั่น แต่ที่สนใจคือการ์ตูนรายเดือน เช่น “Tetsuwan Atom” เพราะ “ตอนนั้นอะนิเมชั่นมีแต่เข้าโรง แถม 2-3 ปีจะมีสักเรื่อง ผมเลยไม่ค่อยมีโอกาสได้ดู” แต่เขาก็ยังชอบอะตอมมาจนกระทั่งเรียนชั้นมัธยมนะ ทว่าสุดท้ายเมื่อเรียนจบเขาก็เข้าทำงานในบริษัทการค้า จากตรงนั้นเองก็เกิดจุดเปลี่ยน เมื่ออะตอมกลายมาเป็นการ์ตูนทีวีที่มีให้ดูทุกสัปดาห์ ซึ่งทำให้เขาตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพ หันมาเอาดีทางอะนิเมชั่น 

เขาเล่าว่า  “ผมเข้าไปร่วมงานกับ มุชิ โปรดัคชั่น ของ โอซามุ เท็ตสึกะ ผมเริ่มงานในฐานะอะนิเมเตอร์ แต่ในปีแรกผมไม่ได้วาดอะไรเลย งานของผม คือการตรวจสอบความก้าวหน้าของงานว่าเป็นไปตามกำหนดที่วางแผนไว้ไหม ปีแรกผมได้ทำอะตอม ปีที่สองถึงได้เริ่มทำ Wonder 3 (ในราวปี 1969) ตอนนั้นในงานอะนิเมชั่นทางทีวี ยังไม่มีผู้กำกับจริงๆหรอก แน่ล่ะว่า อ.เท็ตสึกะเป็นคนดูในภาพรวม ส่วนการผลิตจริงๆนั้นมีคนอื่นดูแล อย่างงานนี้ (วันเดอร์3) มีคนดูแลเหมือนเป็นผู้กำกับอยู่สัก 4 คน ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น จะเรียกว่าเป็นผู้ช่วยผู้กำกับก็ได้” หลังจากนั้นทากาฮาชิก็มีส่วนในงานของมุชิโปรที่น่าสนใจอีกหลายเรื่อง เช่น การผจญภัยของหงอคง(1967), เจ้าหญิงอัศวิน(1967), โดโรโร่ (1969) 

   

 

“ต่อมา มุชิโปรล้มละลาย ถึงจะมีการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ แต่ผมก็ไม่ได้กลับไปร่วมงานกับที่นั่นอีกหรอกนะ” เพราะทากาฮาชิไปร่วมงานกับเพื่อนร่วมงานจากมุชิโปรไปตั้งสตูดิโอใหม่อย่าง Sunrise ที่เขาได้ร่วมสร้างงานอย่าง Zero Tester (อะนิเมะที่รวมคนที่จะเป็นคนสำคัญในวงการอะนิเมะของญี่ปุ่นในอนาคต) กับ Cyborg 009 (ฉบับปี 1979-80) ที่เดินเรื่องต่อจากอะนิเมะฉบับดั้งเดิมปี 1967 ที่หน้าตาตัวละครจะคล้ายกับในคอมิคของ อ.อิชิโนะโมริ โชทาโร่ มากกว่าเดิม แม้ว่าซีรี่ส์จะมีปัญหาในช่วงท้ายๆ แต่ก็เป็นอะนิเมะไซบอร์ก 009 ที่ดีที่สุดฉบับหนึ่ง 

   

ผลงานชิ้นต่อไปของทากาฮาชิเป็นงานที่ลงลึกไปอีกสำหรับ Real Robot มันคือ Fang of the Sun Dougram หรือ หุ่นเขี้ยวสุริยัน ดั๊กแกรม  

  

Fang of the Sun Dougram 

หลังจากกันดั้มทำให้เกิดอะนิเมะหุ่นยนต์ Real Robot ถ้าจะมีอะนิเมะหุ่นยนต์เรื่องไหนที่สานต่อแนวทางนี้อย่างเข้มข้นก็คงต้องเป็นเรื่องนี้  Dougram  ที่น่าทึ่งคืออะนิเมะเรื่องนี้มีความยาวถึง 75 ตอน (ยาวสุดในแนวนี้เลย) เล่าเรื่องราวบนดาวอาณานิคมของโลก “เดรอยเยอร์” เรื่องของกลุ่มนักสู้ที่ต่อสู้เพื่ออิสระภาพของดวงดาวนี้ จากผู้ปกครองเผด็จการที่มีสหพันธ์โลกหนุนหลัง  ผ่านกลุ่มหน่วยรบ “เดรอยเยอร์ 7” ที่มีอาวุธเป็นหุ่นรบรุ่นล่าสุดที่ขโมยมาจากฝ่ายสหพันธ์โลก โดยคนขับและขโมยมาคือ คริน คาชิม ลูกชายของ โดนัน คาชิม ผู้เผด็จการสูงสุดของเดรอยเยอร์นั่นเอง โดยสอดแทรกการต่อสู้ทางการเมือง และกลยุทธ์ทางทหารในเรื่องด้วย 

  

ทากาฮาชิเล่าว่าตอนเขามาเริ่มงานนี้ในปี 1980 แบบของดั๊กแกรมได้รับอนุมัติแล้ว แต่ตัวอื่นๆยัง เขาจึงได้คุยกับ คุนิโอะ โอคาวาร่า (ผู้ออกแบบแมคคานิคส์เรื่องนี้และกันดั้มภาคแรก) เฉพาะหุ่นที่เหลือในเรื่อง ทากาฮาชิอธิบายว่าในกระบวนการผลิตอะนิเมะนั้นต้องมีสปอนเซอร์ที่จะช่วยออกค่าใช้จ่ายในการผลิตให้  ในกรณีของอะนิเมะหุ่นยนต์สปอนเซอร์รายใหญ่คือบริษัทของเล่น เพราะฉะนั้นเพื่อหาทุนสร้างจึงต้องออกแบบหุ่นตัวเอกให้เสร็จก่อน เพื่อไปเสนอขายหนังให้สปอนเซอร์ 

  

แต่ทำไมดีไซน์ของดั๊กแกรมจึงประหลาดอย่างนั้น คือมันไม่มีหน้า ทากาฮาชิเล่าว่าเรื่องนี้เขาก็ไม่ได้คุยกับโอคาวาร่าก็เลยไม่แน่ใจ แต่คาดว่า หลังจากที่โอคาวาร่าออกแบบกันดั้มที่เปลี่ยนแนวทางหุ่นยนต์จากผลงานของนักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะเพื่อต่อต้านวายร้ายที่คิดครองโลก มาเป็นหุ่นยนต์ถูกสร้างขึ้นเป็นกองทัพเพื่อทำสงคราม แต่กันดั้มก็ยังดูไม่สมจริงพอกับความคิดนัก เพราะยังมีสิ่งที่ดูไม่จำเป็นอย่าง “ใบหน้า” อยู่ ก็เลยอาจจะอยากลองออกแบบอะไรที่สุดไปกว่านั้นออกมา 

  

“ส่วนหัวที่เป็นค็อกพิทของดั๊กแกรมมันเหมือนของเฮลิคอปเตอร์จู่โจม พอเห็นแบบนั้นมันทำให้ผมเกิดความรู้สึกอยากเอาเสียงเฮลิคอปเตอร์มาใส่ในหนัง  มันก็เลยทำให้เกิดไอเดียใช้รถหรือยานคล้ายเฮลิคอปเตอร์มาลำเลียงหุ่น เสียงของสงครามสมัยก่อนคือเสียงเครื่องบิน  แต่พอมาถึงสมัยสงครามเวียตนาม เสียงนั้นก็เปลี่ยนเป็นเสียงเครื่องเจ็ท กับใบพัดเฮลิคอปเตอร์  แล้วช่วงนั้นฮอลลีวู้ดก็สร้างหนังสงครามเวียตนามออกมาเยอะมาก มันก็เลยมีอิทธิพลกับผม เรื่องที่มีอิทธิพลกับผมที่สุดน่าจะเป็น Apocalypse Now (หนังสงครามเวียตนามปี 1979 กำกับโดย ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา เล่าเรื่องการเดินทางไปตามหาผู้พันหนีทัพที่กลายเป็นผู้นำชนเผ่าใจกลางป่าลึกของเวียตนาม ดัดแปลงจากนิยาย Heart of Darkness ของโจเซฟ คอนราด) 

  

ดั๊กแกรมจึงมีบรรยากาศการรบใกล้เคียงกับในสงครามเวียตนาม คือเป็นการรบแบบกองโจร มีการใช้แผนการรบมาช่วยในการรบ ไม่ใช่แค่เอาหุ่นมาสู้กันอย่างเดียว ส่วนเรื่องที่ตัวเอกคริน ตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของฝ่ายมีอำนาจ(พ่อ) กับ ฝ่ายต่อต้าน(เดรอยเยอร์ 7) ก็มาจากประสบการณ์ส่วนตัวของทากาฮาชิที่เติบโตมาในญี่ปุ่นยุค 60-70 ที่มีความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ เรื่องการคงอยู่ของกองกำลังสหรัฐในประเทศ จนนำไปสู่การประท้วงบ่อยครั้งในช่วงเวลานั้น ทากาฮาชิรู้สึกว่าเขาเป็นพวกที่อยู่ตรงกลางคือไม่ได้เห็นด้วยกับทั้งสองฝ่ายจึงเอาความรู้สึกนี้มาใส่ในตัวเอกของเรื่อง 

  

ที่ทากาฮาชิเอาเนื้อหาหนักๆ อย่างนี้มาใส่ในเรื่องได้เพราะเมื่อตอนเริ่มงานเขาได้รับคำบอกเล่าว่า “อยากจะเล่าเรื่องอะไรก็เล่า ขอแค่ให้ของเล่นขายได้ก็พอ” (จะได้มีเงินมาผลิตต่อ เขาก็ทำได้ดีเชียวล่ะ ถึงได้ยาวตั้ง 75 ตอน) ทากาฮาชิเห็นว่าสิ่งที่จะช่วยขายของเล่นคงจะเป็น “ไดโอรามา”(การสร้างฉากจำลองจากแบบจำลอง) ทากาฮาชิคิดว่าในการสร้างไดโอรามานั้นต้องมีการตบแต่งโมเดลเพิ่มเติมจากเดิมๆเช่น เวทเธอริ่ง หรือทำดาเมจ  ซึ่งน่าจะช่วยเพิ่มยอดขายให้โมเดลได้  ก็เหมือนเป็นการต่อยอดจากกระแส “กันพลาบูม” ทากาฮาชิจึงเปิดเรื่องดั๊กแกรมด้วยฉาก “โจ สิงห์สังเวียน” (หุ่นดั๊กแกรมนั่งสิ้นสภาพกลางทะเลทราย) ก่อนจะเล่าเรื่องย้อนกลับไปถึงที่มา ช่วงนั้นทาง Takara สปอนเซอร์หลักที่เป็นผู้ผลิตโมเดลจากเรื่องนี้(แบบยิบมากมีทั้งหุ่นทั้งยวดยาน) ก็ออกนิตยสาร Dual Magazine ที่ลงโมเดลจากเรื่องนี้ในแบบจัดไดโอรามา เพื่อมาส่งเสริมการขายด้วย 

   

หลังจากนี้ก็เหมือนว่าแนวทางอะนิเมะหุ่นยนต์ของทากาฮาชิคือการสร้างโลกที่มีหุ่นยนต์ในนั้น หุ่นที่ทั้งโดดเด่น และก็กลมกลืนไปกับเนื้อเรื่องที่บอกเล่า 

  

ก่อนจบขอแทรกเรื่องหุ่นในเรื่องนิด หุ่นในเรื่องนี้เรียกว่า Combat Armor เกิดจากการที่รัฐบาลสหพันธ์โลก อยากได้อาวุธสงครามที่สามารถใช้งานได้ในทุกสภาพภูมิประเทศ จึงให้บริษัท เอกชนแข่งกันผลิตมาเสนอ ที่สุดเหลือเพียงสองบริษัท คือ บริษัท Arbitate ที่ผลิตออกมาในรูปแบบรถถังมีขา เช่น Crabgunner และ บริษัท Soltic ที่ผลิตหุ่นเดิน 2 ขา อย่างเจ้า H-8 ที่เราคุ้นเคย ตัวนั้นจริงๆต้องเรียกว่า Roundfacer บริษัทอาร์บีเทจหลังๆก็พัฒนาหุ่นรุ่นเดิน 2 ขาออกมาเหมือนกันเช่น “ไออ้อนฟุต” ส่วนดั๊กแกรมนั้นเป็นหุ่นรุ่นต้นแบบที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาใหม่ไม่ใช่ผลงานของทั้งสองบริษัท จึงมีตัวเดียว 

  

  

หลังจากฉายทางทีวีจบมีการเอาไปตัดต่อใหม่เพื่อฉายในโรงในชื่อ Dougram : Document  (1983) กับเวอร์ชั่น SD ในชื่อ Choro Q Dougram ด้วย 

ตอนต่อไปจะเล่าถึง Votoms ครับ 

 

 


การชำระเงินผ่าน อินเตอร์เน็ต แบงกิ้ง

(เสียค่าบริการ Vat 7%)

powerupmag

การชำระเงินผ่าน เคาน์เตอร์เซอร์วิส

(เสียค่าบริการ Vat 7%)

powerupmag

ช่องทางขนส่งสินค้า

จัดส่งสินค้าภายใน 3-7 วันทำการ

powerupmag
Copyright © 2018 All rights reserved. | powerupmag.com